เคยรักเขาที่สุดแต่ตอนนี้เธอคือสุดที่
หลายปีก่อน
“นันดารำสวยมากเลย” รุ่นพี่ชมรุ่นน้อง
“พี่แชมป์เห็นด้วยเหรอ”
“พี่แอบดูอยู่หลังเสามายืนดูใกล้ๆ นันดาจะเขินจนรำไม่ออก พี่พูดถูกไหมล่ะ”
“ถูกค่ะ ก็มันเขินจริงๆ นี่นา”
“คนอื่นดูกันเป็นร้อยไม่เห็นเขิน รำบนเวทีก็ไม่เห็นเป็นไร”
“ก็พี่แชมป์ไม่ใช่คนอื่นซะหน่อย”
“หมายความว่าพี่เป็นคนพิเศษของนันดาใช่ไหม”
“ยังจะถามอีก หนูเคยไปไหนกับใครนอกจากพี่ด้วยเหรอ”
“ก็แค่อยากมั่นใจ คู่แข่งแทบจะทั้งโรงเรียน” นันดาเป็นเด็กสาวหน้าตาโดดเด่น ผิวของเธอขาวนวล ใบหน้ารูปไข่ ตาโต ขนตางอน จมูกโด่งกำลังดี ริมฝีปากรูปกระจับเป็นสีชมพูโดยไม่ต้องเติมแต่ง
เธอจึงเป็นที่หมายปองของคนมากมาย
“พูดเว่อร์ไปพี่แชมป์ ไม่มีใครสนใจลูกชาวบ้านแบบหนูหรอก”
“ทุกคนก็เป็นลูกชาวบ้านทั้งนั้นแหละ นันดามีคนมาสนใจเยอะเพราะหน้าตาน่ารัก”
“แล้วพี่แชมป์สนใจแค่หน้าตาหนูเหรอ”
“ตอนแรกพี่ยอมรับว่าสนใจแค่นั้นก็นันดาน่ารักจริงๆ นี่นาแต่พอรู้จักกันก็รู้ว่านิสัยของนันดาก็น่ารักด้วย”
“ขอบคุณค่ะ” นันดาบอกเมื่อมาถึงที่หมาย
“เร็วจัง” ชยพลบ่นเสียดายที่ระยะทางจากโรงเรียนจนถึงปากทางเข้าบ้านของนันดามาถึงเร็วเกินไป
“พี่ไปส่งหน้าบ้านไม่ได้เหรอ”
“ส่งแค่นี้ก็พอค่ะ หนูเกรงใจแม่”
“ก็ได้ พรุ่งนี้เจอกันที่โรงเรียนนะ”
“บ๊ายบายค่ะ” นันดาโบกมือให้รุ่นพี่ที่ขี่รถจักรยานไปอีกทาง เธอยืนมองเขาจนลับตาแล้วเดินกลับบ้าน
“กลับมาแล้วจ้ะแม่” นันดาไหว้แม่ที่กำลังทำงานฝีมือ เป็นภาพที่เห็นจนชินตาที่มือของแม่จะหยิบจับทำงานอยู่เสมอไม่เคยปล่อยให้มือว่าง
“น้อยหิวรึยัง”
“ยังจ้ะแม่ หนูไปล้างมือแล้วเดี๋ยวมาช่วยแม่ทำนะ”
“ไม่ต้องหรอก ถ้ายังไม่หิวไปสอนการบ้านนิดที แม่ดูแล้วไม่เข้าใจ”
“ได้จ้ะแม่”
นันดา มีชื่อเล่นว่า น้อย อยู่มัธยมศึกษาปีที่สอง มีความสามารถพิเศษด้านรำไทยและร้องเพลง ความถนัดด้านวิชาการอยู่ในระดับกลาง
นัชชา มีชื่อเล่นว่า นิด อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่สี่ มีความสามารถพิเศษด้านศิลปะ ความถนัดด้านวิชาการอยู่ในระดับล่าง
ทุกคนจะเรียกน้องคนเล็กว่านิดแต่สำหรับนันดาคนส่วนมากชอบเรียกชื่อจริงของเธอ ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกันทั้งที่ชื่อเล่นก็เรียกง่ายแถมเชยสุดๆ
“พี่น้อย หนูทำเลขข้อนี้ไม่ได้” น้องสาวยิ้มกว้างเมื่อเห็นพี่สาว
“ไหนพี่ดูสิ” นันดาหยิบสมุดที่หน้ากระดาษเปื่อยยุ่ยขึ้นมาเพราะน้องเขียนๆ ลบๆ ไปหลายรอบ
เธอไม่ได้เรียนเก่งนักแต่ก็โชคดีที่เคยผ่านบทเรียนพวกนี้มาหมดแล้วจึงพอช่วยน้องได้ เธอสอนน้องทีละขั้นตอนและชี้ให้ดูว่าทำผิดส่วนไหนถึงได้คำตอบไม่ตรงกันสักรอบ
“พี่น้อยเก่งที่สุดเล้ย” น้องสาวกอดพี่แล้วเก็บสมุดหนังสือ นัชชามีพี่สาวเป็นต้นแบบ พี่สวยมาก เป็นนางรำของโรงเรียน ร้องเพลงก็เพราะ การเรียนแม้จะไม่เป็นที่หนึ่งของชั้นแต่ไม่เคยสอบตกหรือสอบซ่อมไม่เหมือนเธอที่ต้องซ่อมเป็นประจำ
“ไปช่วยแม่ทำงานดีกว่า” พี่จับมือน้องแล้วพากันเดินไปหาแม่ที่ยังนั่งทำงานอยู่ท่าเดิม
“รอบนี้เป็นของคริสต์มาสหมดเลยเหรอแม่” นันดาถามแม่ที่กำลังนำกิ๊บติดผมสีแดง เขียว ทอง ใส่ถุงพลาสติกใบเล็ก
“เอาไว้ขายเดือนหน้าไง”
“จริงด้วย หนูลืมไปเลยว่าเดือนหน้าก็ธันวา ปลายปีแล้วเหรอเนี่ย เร็วจัง”
สามคนแม่ลูกนั่งทำงานและคุยกันไปด้วย ส่วนใหญ่แม่จะถามลูกเรื่องที่โรงเรียน
นารีเป็นแม่หม้าย สามีของเธอจากไปตอนลูกสาวคนเล็กได้ขวบกว่า ตัวเธอจบแค่ชั้นประถมจึงทำได้แค่งานระดับล่าง เธอทำมาหลายอย่างทั้งค้าขาย กรรมกร ชาวสวนแต่งานสุดท้ายที่ทำให้มีเงินเลี้ยงดูปากท้องคือแม่บ้านประจำสำนักงานแบบไปเช้าเย็นกลับ
งานนี้มีเงินเดือนแน่นอนได้อยู่เป็นหลักแหล่งไม่ต้องเร่ร่อนหรือหาทุนรอนสำรองเอง มีสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานแม้ต้องเข้างานตั้งแต่เจ็ดโมงแต่สามโมงก็เลิกงานแล้ว เธอจึงได้กลับบ้านมาทำงานเสริมหารายได้เพิ่มอีกทาง
เงินเดือนมีแล้วแต่เงินออมยังน้อยนัก ลูกก็โตขึ้นทุกวัน รายจ่ายต่างๆ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
“พี่น้อยไม่ไปประกวดร้องเพลงเดอะสปาล่ะ ต้องชนะแน่ๆ”
“เดอะสตาร์จ้ะ” นันดาแก้ไขคำให้ถูกต้อง
“นั่นแหละๆ เดอะสตาร์น่ะพี่น้อย พี่ไปประกวดเลย ชนะล้านเปอร์เซ็นต์”
“คนเก่งกว่าพี่มีเยอะแยะแล้วพี่ก็ไปไม่ได้หรอกต้องไปคัดตัวที่กรุงเทพไกลจะตาย ที่สำคัญพี่ไปแล้วยัยขี้แงจะไปโรงเรียนกับใคร”
“หนูไม่ได้ขี้แงสักหน่อย” นัชชาทำจมูกย่นที่โดนพี่สาวล้อเลียน
“งั้นคราวหน้าถ้าโดนชมพู่แย่งขนมอีก ไม่ต้องมาฟ้องพี่นะ” ชมพู่กับนัชชาเป็นเพื่อนรักเพื่อนร้ายที่เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ตีกันวันละพันรอบแต่ก็ยังคบกันอยู่
“หนูอยากกินไข่ดาว แม่ทอดให้หนูได้ไหม” นัชชาหันไปพูดกับแม่
“ทำเป็นเปลี่ยนเรื่องนะไอ้หมาเอ๊ย” นันดาหัวเราะร่วนที่น้องสาวทำไม่สนใจแต่สุดท้ายเวลามีเรื่องที่โรงเรียน ก็วิ่งมาหาเธอตลอด
ความเป็นอยู่ของสามแม่ลูกพอกินพอใช้ไม่ถึงขั้นสุขสบายเหลือเฟือ อาหารการกินก็พื้นๆ ธรรมดาแค่ไข่ดาวร้อนๆ กินคู่ข้าวสวยหุงสุกใหม่ๆ เหยาะซอสฝาเหลืองอีกหน่อยก็อร่อยเหาะแล้ว
พอสองทุ่มก็ได้เวลาปิดบ้านเข้านอน ชีวิตคนต่างจังหวัดก็แบบนี้ ตกกลางคืนไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ยิ่งผู้หญิงด้วยแล้วการออกไปข้างนอกยามวิกาลยิ่งหมดโอกาส
“แม่จ๊ะ ครูสุนทรบอกว่า หนูควรสอบชิงทุนที่โรงเรียนในเมืองจ้ะ ตอนขึ้น ม. ปลาย” นันดาคุยกับแม่ ทั้งสามนอนห้องเดียวกันโดยมีน้องสาวนอนตรงกลาง
“ต้องทำยังไงบ้างล่ะ”
“เอาความสามารถพิเศษไปสอบจ้ะ ของหนูก็รำไทยกับร้องเพลง ถ้าสอบได้ก็เรียนฟรีจนจบเลยจ้ะ แล้วก็มีโอกาสไปประกวดงานต่างๆ ในนามโรงเรียน อาจจะได้ค่าขนมด้วยนะจ๊ะ”
“ดีจัง สมัยแม่ไม่มีแบบนี้เลย”
“หนูไปได้ใช่ไหมจ๊ะ”
“ได้สิ น้อยอยากเรียนอะไรอยากเป็นอะไร แม่สนับสนุนทั้งนั้น”
“ขอบคุณจ้ะแม่”
“นิดล่ะ อยากสอบชิงทุนแบบพี่เขาไหม”
“หนูรำไทยไม่เป็น ร้องเพลงก็แย่”
“วาดรูปไง นิดวาดสวยจะตาย”
“ครูไม่เคยชมเลยจ้ะ ครูบอกว่าวาดรูปสวยก็เอาไปหากินไม่ได้ เด็กฉลาดต้องเก่งเลขกับวิทย์”
“สำหรับที่นี่ใช่แต่สำหรับเมืองกรุง เมืองอื่นๆ หรือต่างประเทศ คนที่เก่งศิลปะก็มีหน้าตาไม่แพ้คนเก่งเลขหรือวิทย์”
“วาดรูปสวยไม่เห็นจะมีประโยชน์เลย” นัชชาไม่เคยไปต่างจังหวัดไกลสุดที่เคยไปคือต่างอำเภอ ถ้าเธอได้เห็นเมืองกรุงหรือได้ฟังเรื่องเล่าจากคนที่เคยไปจะเข้าใจว่าศิลปะมีราคาจับต้องได้ในเมืองที่เห็นคุณค่าของศิลปิน
นันดาไม่เคยไปกรุงเทพแต่ได้ฟังจากชยพล แม่ของเขามีบ้านอยู่ที่กรุงเทพ ช่วงปิดเทอมเขาจะไปพักผ่อนที่นั่นจึงได้เห็นสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ
“เสื้อผ้าที่เราใส่ต้องใช้คนออกแบบวาดเป็นรูปออกมาก่อน ถึงจะตัดเป็นชุดแบบนี้ได้”
“จริงเหรอพี่น้อย” นัชชาถามด้วยความสนใจเพราะไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย
“จริงสิ ศิลปินน่ะเท่จะตาย ทำงานที่มีชิ้นเดียวในโลก สิ่งของรอบตัวเราพวกตู้ โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า แก้ว จาน ชาม ช้อน ต้องออกแบบก่อนทำออกมาขายทั้งนั้น” นันดาดีใจที่เห็นแววตาเป็นประกายของน้อง
เธออยากเป็นนักเรียนทุน แม่จะได้นำเงินไปส่งเสียน้องได้เต็มที่ไม่ต้องแบ่งให้เธอ เผลอๆ อาจจะได้ค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ด้วยในระหว่างที่เป็นนักเรียนทุน
“แล้วแชมป์จะไปเรียนกรุงเทพเหรอ” นารีถามลูกสาว
“จ้ะ แม่รู้ได้ยังไงเหรอ”
“พวกแม่บ้านที่ทำงานเขาคุยกัน ไม่แปลกหรอกพ่อแม่แชมป์มีที่ดินเป็นร้อยไร่”
“จ้ะ” นันดาไม่กล้าพูดอะไรอีกเพราะมีความลับปิดบังแม่ไว้
“ชอบพอกัน ไม่ใช่เรื่องผิด ความรักเป็นสิ่งที่ดีแต่เราต้องวางตัวให้ถูกทำตัวให้เหมาะสม น้อยเข้าใจที่แม่บอกใช่ไหม”
“เข้าใจจ้ะแม่”
“นิดก็ฟังไว้ด้วยนะ เราเป็นลูกผู้หญิง ถึงสมัยนี้จะเปิดกว้างมากขึ้นเรื่องการคบหาดูใจแต่สุดท้ายผู้หญิงก็ถูกมองว่าเสียเปรียบอยู่ดี ไม่ชิงสุกก่อนห่ามนั้นดีที่สุด พลาดพลั้งขึ้นมาเรียกกลับคืนไม่ได้ รักในวัยนี้มันไม่แน่นอน ชีวิตยังอีกไกลนัก”
“จ้ะแม่” นันดารับคำ
“หนูจะอยู่กับแม่ หนูจะไม่มีแฟน พวกผู้ชายไม่เห็นน่าดูสักคน ขี้แกล้งตัวก็เหม็น แหวะ …”
“นิด ! ไม่ว่าคนอื่นสิ ไม่น่ารักเลย” นารีปรามลูกสาว
“ก็หนูพูดจริงนี่นา”
“ถึงจะเป็นเรื่องจริงแต่ถ้าพูดแล้วไม่มีประโยชน์แถมทำให้คนฟังเสียใจก็ไม่ควรพูด เข้าใจไหม”
“เข้าใจจ้ะแม่” นัชชารับคำแต่แอบเถียงอยู่ในใจ
“มีแฟนวันไหน พี่จะล้อเช้ากลางวันเย็นเลย”
“ไม่มีหรอก หนูจะอยู่กับแม่ หนูรักแม่ที่สุดในโลก จะไม่รักใครแล้ว”
“อ้าว ! แล้วพี่ล่ะ นิดไม่รักพี่เหรอ”
“รักสิ รักรองจากแม่ไง”
“พี่ก็รักเธอ ยัยตัวยุ่ง” นันดากอดน้องสาวจนเธอร้องลั่นเพราะหายใจไม่ออก
นันดาอ่านหนังสือเรียน นัชชาวาดรูปเล่น นารีอ่านหนังสือธรรมะ ยังไม่ทันสี่ทุ่มลูกสาวคนเล็กก็หน้าทิ่มใส่กระดาษ พี่สาวจึงจัดแจงเก็บของแล้วจัดท่านอนให้ดีๆ
“ถ้าแม่ไม่อ่านหนังสือแล้ว ปิดไฟเลยก็ได้นะจ๊ะ” เมื่อห่มผ้าให้น้องแล้ว นันดาก็เริ่มง่วงเหมือนกัน
“แม่ก็ง่วงแล้ว งั้นนอนกันเลย ฝันดีนะลูก”
“ฝันดีจ้ะแม่” นันดาหลับตาแล้ววาดฝันถึงอนาคตที่จะได้เป็นนักเรียนทุน หากมีโอกาสและวาสนาส่งเธอคงได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพ มันคือความฝันสูงสุดของเธอเพราะใครๆ ก็บอกว่า ที่นั่นเจริญมีโอกาสมากมายให้ไขว่คว้า
เธอทบทวนท่ารำและเนื้อเพลงที่คิดว่าจะใช้ พรุ่งนี้จะไปปรึกษาครูว่าควรใช้กิจกรรมใดในการสอบชิงทุนระหว่างรำไทยกับร้องเพลง เธอไม่แน่ใจว่าอย่างไหนมีโอกาสมากที่สุด ถามผู้รู้ไปเลยจะได้มีโอกาสมากขึ้น
บทที่ 1 เด็กกิจกรรม
19/06/2024
บทที่ 2 หอมแก้ม
19/06/2024
บทที่ 3 จูบแรก
19/06/2024
บทที่ 4 คำสัญญา
19/06/2024
บทที่ 5 ฟ้าหลังฝน
19/06/2024
บทที่ 6 แผลเก่า
19/06/2024
บทที่ 7 รื้อฟื้น
19/06/2024
บทที่ 8 โลกกลม
19/06/2024
บทที่ 9 ความเจ็บฝังใจ
19/06/2024
บทที่ 10 แพ้ใจตัวเอง
19/06/2024
บทที่ 11 ของโปรด
19/06/2024
บทที่ 12 น้องสาวเจ้าปัญหา
19/06/2024
บทที่ 13 ได้ตลอด
19/06/2024
บทที่ 14 เมนูต้องห้าม
19/06/2024
บทที่ 15 โชคดีที่สุด
19/06/2024
บทที่ 16 สุดทาง
19/06/2024
บทที่ 17 ความในใจ
19/06/2024
บทที่ 18 ติดเชื้อ
19/06/2024
บทที่ 19 ของขวัญ
19/06/2024
บทที่ 20 ความสุข
19/06/2024
หนังสืออื่นๆ ของ อัณณากานต์
ข้อมูลเพิ่มเติม